แรกกล้าผักหวานป่า

มนุษย์เราดำรงเผ่าพันธุ์ด้วยเพศเป็นหลัก เป็นข้อเท็จจริงที่รับรู้กันโดยทั่วไป เป็นเรื่องปกติ เป็นสัญชาตญาณ ต้นไม้ก็เช่นกัน การเพาะเมล็ด เป็นวิธีขยายพันธุ์พืชโดยอาศัยเพศ ทำให้เราได้ต้นกล้าใหม่ที่เกิดมาจากส่วนของเมล็ด แต่ที่พิเศษกว่านั้น แม้ไม่ต้องใช้เพศ ต้นไม้ก็ขยายพันธุ์ได้ครับ เป็นต้นว่า การตอนกิ่ง ปักชำ ติดตา สกัดราก แยกหน่อ ต่อไหล หรือจะเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก็นับว่าใช่ ด้วยวิธีเหล่านี้เราจะได้ต้นกล้าใหม่จากส่วนอื่น ๆ ของพืช อันได้แก่ กิ่ง ราก เหง้า ไหล ก้าน ใบ ไปจนถึงลำต้น ไม่ใช่จากเมล็ด พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่ต้องมีการผสมพันธุ์ เอ๊ย! ผสมเกสรตัวผู้กับตัวเมียจนกลายเป็นเมล็ดเพื่อสืบสายขยายพันธุ์นั่นเอง

ในแวดวงไม้ผล การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดไม่เป็นที่นิยม ความที่มักจะกลายสายพันธุ์ เติบโตขึ้นมาผิดแผกไปจากต้นแม่ มีผลให้เกิดความผิดเพี้ยนในแง่ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตได้ค่อนข้างสูง

แต่ข้อดีของการเพาะด้วยเมล็ด ก็คือ เราจะได้ต้นไม้ที่มีระบบรากแก้วที่แข็งแรงและหาอาหารเก่ง จากข้อดีนี่เอง ชาวสวนจึงนิยมเพาะเมล็ดเพื่อใช้เป็นต้นตอในการขยายพันธุ์ด้วยการเสียบยอด ติดตา ต่อกิ่ง แทนการเพาะด้วยเมล็ดโดยตรง

ถ้าสนใจเกี่ยวกับการขยายพันธุ์พืชอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แนะนำให้เข้าไปเรียนรู้จากภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามลิงค์นี้เลยครับ http://web.agri.cmu.ac.th/hort/course/359301/pprop/index1.html

ทีนี้เมื่อขยายพันธุ์กันพอหอมปากหอมคอแล้ว ก็ว่าจะชวนมาแวะบ้านสวนเนิร์สเซอรี่ ไปดูเด็กแรกเกิดกัน ปกติแล้วผมเป็นคนเดินช้า แต่ความเร็วของชีวิตในอัตรานี้ ทำให้ผมทันที่จะได้เห็นการผลิบานของเมล็ดพันธุ์ เห็นการก่อกำเนิดของบางชีวิตในสวนนี้อยู่เนือง ๆ

อันที่จริงแล้วจะเร็วหรือช้าก็ไม่น่าใช่ข้อจำกัดในการมองเห็นความงามของธรรมชาตินะ-ผมว่า ความรีบเร่งนั้นอาจทำให้ภาพพร่ามัว ไม่ชัดเจน แต่ขอเพียงคุณเพ่งอย่างพินิจ ค่อย ๆ ปรับโฟกัสให้ชัดขึ้น เพียงเท่านี้คุณก็สามารถสัมผัสสุนทรียะที่รายล้อมอยู่รอบตัวคุณได้ทุกที่ ทุกเวลา

สำคัญที่ตัวคุณเองว่าอยากจะมองเห็นหรือเปล่า …

ในทุก ๆ วันหรืออาจนับเป็นวินาที บนดาวสีน้ำเงินดวงนี้จะมีชีวิตใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ทั้งคน พืช สัตว์ นับกันไม่หวาดไม่ไหว ลองนึกดูสิครับ ถ้าเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการเริ่มต้นของชีวิต แม้จะไม่ใช่เชื้อสายหรือผู้ให้กำเนิด แค่ได้เอื้อให้เกิดช่วงเวลามหัศจรรย์อย่างนั้น ได้ยืนชื่นชมอยู่ใกล้ ๆ หรือคุดคู้แอบดูอยู่ใต้เตียง ก็ล้วนให้ความรู้สึก ‘ลุ้น’ ได้ไม่แพ้กัน

.

ผมหมายถึง “การเพาะเมล็ดผักหวานป่า” น่ะครับ

.

.

เมล็ดผักหวานป่ากลมรีรูปไข่ จะเริ่มสุกสีออกเหลืองมะปรางราวเดือน เม.ย.-พ.ค. (ภาพนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก อ.ธวัชชัย นาคะบุตร http://naturalagri.multiply.com/ ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ)

.

หลังจากแยกเนื้อที่หุ้มเมล็ดออก หย่อนลงถุงเพาะ ออกแรงกดแค่ปริ่มเสมอดิน อย่าถึงกับมิดเมล็ด รดน้ำพอให้ดินชื้น อย่าให้แฉะ นับวันผ่านประมาณเดือน รากก็เริ่มแทงดิน เหมือนลงเสาหลัก

.

เมื่อสีเขียวโคนกล้าเริ่มจาง หน่ออ่อนก็ค่อย ๆ สลัดหลุดจากขั้ว ออกมาให้แดดให้ลมช่วยบ่มเพาะ รอเวลากล้าแกร่ง

.

ทำเป็นลืมไปราวสัปดาห์ ต้นกล้าก็ระบัดใบเขียว … งาม

.

.

นอกจากการเพาะเมล็ดแล้ว การขยายพันธุ์ผักหวานป่ายังทำได้อีกหลายวิธี ตั้งแต่การตอนกิ่ง การชำราก ไปจนถึงการล้อมไม้ใหญ่มาปลูกกันเลย แต่การเพาะเมล็ดก็ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดทั้งในแง่ปริมาณจากที่สามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมากในเวลาที่รวดเร็ว และในแง่คุณภาพจากการมีระบบรากแก้วที่ดีกว่านั่นเอง และเผื่อไว้ว่ามีใครสนใจ ก็จะขอเขียนคร่าว ๆ ถึงการขยายพันธุ์ผักหวานป่าแบบอื่น ๆ ให้อ่านกันเพลิน ๆ

“การตอนกิ่ง” ว่ากันว่าเป็นวิธีที่ยากที่สุด เพราะนอกจากจะออกรากยากแล้วยังใช้เวลานาน ๓-๔ เดือนเลยทีเดียว น่าจะมีเหตุผลมาจากธรรมชาติของผักหวานป่าที่มักจะ “หวงราก” นั่นเอง แต่วันนี้ผมมีเคล็ดลับจากเซียนมาฝาก กลั่นจากประสบการณ์กว่ายี่สิบปีในการปลูกผักหวานป่าของ ผู้ใหญ่รับ พรหมมา ผญ.บ้าน หมู่ ๗ ต.หนองบัว อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี … รู้ไว้ใช่ว่านะครับ
.

“…ให้เลือกกิ่งกระโดงอายุข้ามปีหรือกิ่งกระโดงที่แตกใหม่ในปีนั้นกลางอ่อนกลางแก่ก็ได้ ควั่นเปลือก ลอกเปลือก ขูดเยื่อเจริญเหมือนการตอนกิ่งทั่วไป ขั้นตอนนี้ให้สังเกตถ้าเปลือกลอกออกง่ายไม่ติดแก่น กิ่งตอนกิ่งนั้นจะแทงรากเร็ว แต่ถ้าลอกเปลือกออกยาก ก็จะแทงรากช้าหรือไม่แทงรากเลย เมื่อขูดเยื่อเจริญแล้ว ใช้กะปิพอกแผลให้มิด ทิ้งไว้จนกะปิแห้งจึงหุ้มด้วยตุ้มตอนขุยมะพร้าวเหมือนการตอนกิ่งทั่วไป หลังจากนั้นประมาณ ๒ เดือน – ๒ เดือนครึ่ง ตุ้มตอนก็จะแทงรากออกมา

เทคนิคการขยายพันธุ์ด้วยวิธีตอนอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อเห็นว่ารากพัฒนาจากสีขาวเป็นสีน้ำตาลแล้วเป็นสีเขียว (แก่จัด) ลักษณะอวบอ้วนสมบูรณ์ดี จำนวนเต็มตุ้ม จึงลงมือ “ควั่นเตือนก่อนตัด” เพื่อบังคับให้ยอดของกิ่งตอนกิ่งนั้นหาอาหารจากขุยมะพร้าวในตุ้มตอนขึ้นไปเลี้ยงตัวเอง แทนการรับจากกิ่งใหญ่ต้นแม่ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา ๑-๒ อาทิตย์ หรือจนกว่าจะแน่ใจว่าส่วนยอดของกิ่งตอนกิ่งนั้นได้อาหารจากตุ้มตอนแน่นอนแล้ว จึงตัดลงมาจากต้นแม่

ตำแหน่งควั่นตอนกิ่งสำคัญมาก ต้องเลือกตรงที่เป็นตุ่มใหญ่หรือข้อหรือปม โดยให้แผลบนอยู่ที่ข้อหรือปมนั้น ส่วนขุยมะพร้าวจะต้องผสมกับดินชื้นโคนต้นอัตราส่วน ๑:๑ สวมตุ้มตอนแล้วต้องรัดให้แน่นเพื่อกระชับแผลให้สนิท

เมื่อตัดลงมาจากต้นแม่แล้วให้นำลงชำต่อในถุงดำ โดยที่หลังจากแกะถุงพลาสติกหุ้มตุ้มตอนจนเหลือแต่ขุยมะพร้าวลงถุงดำนั้น จะต้องกดวัสดุเพาะชำในถุงดำให้แน่นจนแน่ใจว่ากระชับรากหรือไม่มีช่องว่าง ถ้ามีช่องว่างหรือไม่กระชับรากจะทำให้รากชะงักการเจริญเติบโตได้ แล้วจึงนำมาอนุบาลในเรือนเพาะชำ แสงแดดไม่เกิน ๓๐-๔๐ เปอร์เซ็นต์ต่ออีก ๒-๓ เดือน หรือให้กิ่งตอนได้แตกใบอ่อนในถุงดำอย่างน้อย ๒-๓ ชุด จนแน่ใจว่าต้นกล้ามีระบบรากเลี้ยงตัวเองได้แล้วจึงนำไปปลูกในแปลงจริง…”

ที่มา: วารสารเกษตรใหม่ ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๔๒ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗

.

(หมายเหตุ: ‘กะปิ’ เป็นสารเร่งรากชนิดหนึ่งครับ เป็นภูมิปัญญาไทยที่เกิดจากการสังเกตและทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเห็นผล ไอ้พวกฮอร์โมนเร่งรากราคาแพงที่ฝรั่งมันทำมาขายแหกตาคนไทยน่ะ ลองชิมดูเถอะครับ…เค็มคาวเหมือนกะปิทั้งนั้น)

อีกวิธีคือ “การชำราก” เหมาะกับผักหวานป่าที่มีอายุเกินกว่า ๑๐ ปีขึ้นไป ไม้ใหญ่วัยฉกรรจ์ขนาดนั้นจะมีระบบรากแผ่ทางข้างไปตามผิวดินเป็นทางยาว ให้เริ่มที่เปิดหน้าดินแล้วตัดรากส่วนที่เป็นรากประธานเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ ๓-๕ นิ้ว นำไปเพาะในถุงดำโดยวางท่อนรากราบไปกับพื้นลึกพอมิด บำรุงรักษาตามปกติ ประมาณ ๑-๒ เดือน ตอรากจะแทงรากใหม่ จากนั้นจึงจะแทงยอดขึ้นมาเป็นต้นกล้า หรือเมื่อตัดรากเป็นท่อนแล้ว ให้ทาแผลด้วยปูนกินหมากเมื่อปูนแห้งจึงกลบดินกลับเหมือนเดิม บำรุงรักษาตามปกติ รดน้ำสม่ำเสมอ ประมาณ ๑-๒ เดือนก็จะมีหน่อผักหวานแทงขึ้นมา เมื่อหน่อโตก็ให้ขุดย้ายมาชำในถุงดำต่ออีก ๓-๔ เดือน จึงนำลงปลูก วิธีนี้เรียกอีกอย่างว่า “การแยกหน่อ”

.

.

.

.

มีเกษตรกรบางคนใช้วิธีเปิดหน้าดินให้เห็นราก จากนั้น “ทุบราก” ให้แตกแล้วกลบดินอย่างเดิม คลุมทับด้วยเศษใบไม้ใบหญ้า รดน้ำตามสมควร หน่อผักหวานก็สามารถแทงขึ้นมาจากรากที่ถูกทุบได้ น่าจะคล้ายกันกับภาพข้างบน เป็นผักหวานป่าในสวนผมเองครับ ไม่แน่ใจว่าโดนหินบาดรากหรือคมมีดตัดหญ้าก็ไม่ทราบได้ วันดีคืนดี หน่อผักหวานก็แทงขึ้นมาให้ตาเห็น พิสูจน์ข้อมูลข้างต้นได้หมดจดสิ้นสงสัย

กับบ้านสวนเอง ที่นี่เราขยายพันธุ์ผักหวานป่าด้วยเมล็ดครับ (อาศัยขอปันจากสวนโน้นบ้าง ขอซื้อจากสวนนี้บ้าง) ความที่อายุต้นยังน้อย ไม่เหมาะที่จะ ขูด ควั่น หั่น สับ เพื่อขยายพันธุ์ได้อย่างไม้ใหญ่ ผมจึงไม่สามารถหาภาพการตอนกิ่งหรือการชำรากมาให้ดูได้ เพราะยังไม่ได้ลองทำกับผักหวานป่าในสวนตัวเอง แต่ถึงแม้วิธีการเพาะเมล็ดจะมีท่วงทีลีลาเบสิกไม่พลิกแพลง แต่เปอร์เซ็นต์ ‘ติด’ ก็สูงเอาการ

สำหรับขั้นตอนการเพาะโดยละเอียดสามารถศึกษาได้จากเอกสาร ผักหวานป่า นะครับ คงไม่ต้องนำมาลงซ้ำในบล็อกนี้อีก

.

เหมือนเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนอย่างไรชอบกล ถือซะว่าได้ย้อนอดีตไปในวัยเด็ก วันที่ถอดรองเท้าเดินย่ำลุยแปลงเกษตรสมัยประถม จำได้ว่าที่ โรงเรียนผม ไม้พรวนดินเป็นงานแรกที่ครูสั่งให้ทำ เหลาไม้ไผ่ให้เป็นช้อนปากยาว ๆ มีด้ามจับ ของใครของมัน ใช้แล้วเก็บไว้ที่โรงเรือน ไม่ต้องเอากลับบ้าน (คงกลัวเอาไปตีกบาลกัน)

ต่อมาก็เรียนวิธีขึ้นแปลงปลูก สูงเท่านั้น กว้างเท่านี้ ต้องเป๊ะ ลองทำแล้วจำให้ดีเพราะมีสอบ พอได้แปลงแล้วก็เริ่มปลูก ทั้งผักกินหัว-กินใบ ยืนพื้นก็พวก ผักกาด คะน้า แครอท โตขึ้นมาหน่อยก็เรียนเรื่องขยายพันธุ์ ปักชำ ตอนกิ่ง ไปตามเรื่อง ในตอนนั้นอะไร ๆ ก็ไม่เข้าหัวเข้าหูหรอกครับ รู้แต่ว่าเรียนสนุกอย่างเดียว

‘เกษตร’ จึงเป็นวิชาที่ผมชอบมากวิชาหนึ่งในวัยและวันเวลานั้น ความที่ได้ออกมาข้างนอก ไม่ต้องอุดอู้อยู่แต่ในห้องเรียน วิชาเกษตรมักจะอยู่ในคาบเช้า เป็นวิชาแรก ๆ ของวัน อากาศจึงเย็นสบาย เด็ก ๆ ก็ยังสด ยังไม่ถูกทุบให้น่วมจากเลขคณิต วิทยาศาสตร์ หรือภาษาไทย อีกหนึ่งความน่ารักของวิชาเกษตรก็คือ เป็นวิชาที่ ‘ตก’ ยาก ถ้าข้อเขียนไม่ผ่าน ไม่ไหวจริง ๆ ครูก็ไล่ไปถอนหญ้า ปลูกผัก รดน้ำ ล้างพลั่ว ล้างจอบ หาคะแนนพิเศษมาเข็นให้จนผ่าน

แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ได้รับจากวิชานี้มีอยู่สองอย่างที่จำได้ไม่มีลืม หนึ่ง-ซึ่งใครที่เคยผ่านจะรู้สึกได้ถึงความแสบสันต์ นั่นคือ ตุ่มแก้วใสบนฝ่ามือทั้งสองข้างที่แตกเป็นแผลแสบไส้ เรียกมันว่าความเจ็บปวด สอง-วิชานี้สอนให้แรกรู้สึกถึงความหวานกรอบของผักที่ปลูกและรอยยิ้มแย้มยินดีของพ่อกับแม่ในวันที่เราเอากิ่งที่ตอนเองกับมือไปปลูกที่บ้าน เรียกมันว่าความภาคภูมิใจ

.

เกษตรในวันนี้ที่ทำให้ชีวิตอยู่สุข ก็คงมาจากวิชาเกษตรในวันนั้นที่สนุกสนาน เรียกมันว่าเป็น ‘แรกกล้าของชีวิต’ ก็คงจะไม่ผิดนัก

.

………………

.

ที่เคยเขียน – ที่เกี่ยวข้อง

.

.

6 thoughts on “แรกกล้าผักหวานป่า

  1. สายลมลอย

    อืม…ดีดี

    ผมได้รับแล้ว แบ่งให้บ้านพี่ชายไปเพาะ งอกงามแบบเดียวกัน

    ได้กินยอด,กินใบเมื่อไร จะส่งภาพมาเสนอ

    ด้วยความขอบคุณ ทั้งเรื่อง ทั้งเมล็ด

  2. golb Post author

    ด้วยความยินดีครับ…อย่างเร็วก็น่าจะสักสองปี

    ไม่นานเกินไปนักกับการรอ “ชม” หรือ “ชิม”

  3. gangurru

    น่ากินมากครับ ลูกสีเหลืองๆ

    ถ่ายเป็นสเตปการงอก เท่ห์มากคับ

  4. สราวุธ

    เยี่ยมเลยคับผมปลูกมา 5ปีแล้ว แต่เพิ่งออกลูกปีนี่ จะนำวิธี ขยายพันธุ์ไปไช้ ขอบคุณมากคับ

  5. ประกอบ แม่ขมิ้น

    มีเมล็ดพันธุ์ผักหวานป่า จำหน่ายช่วงประมาณเดือนเมษายน – พฤษภาคม ของทุกปี ราคา 100 เมล็ด แถม 40 เมล็ด 300 บาท ไม่รวมค่าส่ง EMS รับประกันความงอก 100 % ไม่งอกคืนเงิน หรือส่งใหม่ให้ฟรี เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ http://www.pakwanpa.com/home.html และ http://www.pakwapa.com หรือติดต่อคุณประกอบ แม่ขมิ้น 0899811411 อีเมล์ prakob_0007@hotmail.com ครับ

Leave a comment