ฝากเงิน…ไว้กับต้นไม้

ยืนยันเสมอมาว่าวิถีเกษตรเป็นวิถีของผู้ให้ครับ เราหล่อเลี้ยงนานาชีวิตให้มีแรงกำลังในการพัฒนาตนเองและสังคม ฉะนั้นทุกอย่างที่ออกจากมือเราต้องเป็นประโยชน์และไม่เบียดเบียน อย่ากังวลกับเทคนิควิธี สูตรนั้นมาตรฐานนี้ที่ซับซ้อน ชีวิตไม่จำเป็นต้องชั่งตวงวัดขนาดนั้น เราขาดเราเกินเพื่อเรียนรู้ที่จะสร้างสมดุลให้กับชีวิต เพียงปรับใจให้รู้จักละแล้วชีวิตก็จะขับเคลื่อนไปตามครรลองนี้ได้เอง

ฝากข้อคิดของ อ.เดชา ศิริภัทร ไว้ให้เก็บไปคิด ไตร่ตรอง และยิ่งได้ลองปฏิบัติแล้วน่าจะเกิดประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่จำเพาะกับการเกษตรเท่านั้น

“… ถ้าเราพยายามหาแต่เทคนิค สิ่งที่รู้มาจะพาเราไปถึงไหนก็ไม่รู้ มันมีโอกาสที่จะหลงทางไปเรื่อย ๆ แต่เราต้องมีวิถีพุทธกำกับเป็นแนวทาง ทำให้เราไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียนชีวิตอื่น ต้องไม่โกรธ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ใช้ความรุนแรง เราถึงจะได้ปัญญาจากธรรมชาติ …”

ขอบคุณคุณเพ็ญลักษณ์ที่กรุณาเรียบเรียงความคิดสะเปะสปะของผมจนเป็นเรื่องเป็นราวพออ่านรู้เรื่อง อาจจะไม่ลึกซึ้งในรายละเอียด แต่อย่างน้อยก็สะท้อนภาพกว้างให้เห็นว่าชีวิตมีทางให้เลือกเดินมากมาย เพียงเรามีหัวใจอิสระ เราก็จะพบทางของเราเอง

อ่าน

KTJ2

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เซคชั่นจุดประกาย คอลัมภ์ Green & Good Life โดย คุณเพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ

ทำสวน ทำครัว

ทำไร่ทำสวนดีอย่างไร?

ทำ-มา-หา-กิน

ทำ-กิน

ไม่ต้องหามาเราก็ได้กินในทันที …

อยากให้รู้จักโรงเรียนสอนทำอาหารที่ผมชอบ … The Agrarian Kitchen

.

agrarian front cover 500

.

Wendell berry นิยามวิถีอะกราเรี่ยนไว้อย่างสวยงามว่า

“An agrarian mind begins with the love of fields and ramifies in good farming, good cooking & good eating”

“ทำสวน ทำครัว”

เป็นนิวเยียร์ เรโซลูชั่นสำหรับปีนี้และปีถัด ๆ ไป …

From my own farm to my own food

สวัสดีปีใหม่ครับ 🙂

.

เกษตรกลอน

เกษตรศรี

หากไทยยืนพื้นฐานการเกษตร
เราจะเป็นประเทศที่แข็งขลัง
เกษตรธรรมนำชาติอาจพลัง
ได้เป็นรังรวงอุ่นหนุนประชา

ย้อนโบราณเราผลิตเพื่อจ่ายแจก
เหลือจากแลกจึ่งขายมานานหนา
ซื้อแต่ที่จำเป็นเราทำมา
แต่ปู่ย่ายายตาเราทำกัน

น้ำใจเป็นตัวตั้งดั่งหลักหมุด
บริสุทธิ์สัตย์ซื่อถือตั้งมั่น
น้อมธรรมะนำทางมานานวัน
แต่เราบั่นวิถีไทยไม่ไยดี

อันนานาวิกฤติชาติที่ก่อเกิด
เพราะเตลิดหลงทางอันบัดสี
มุ่งมัวเมาโลกียะสุดอัปรีย์
แม้ภูมีท้วงเตือนไม่เชื่อฟัง

ถึงวันนี้ผองไทยจงได้คิด
ทบทวนทางเดินผิดแต่หนหลัง
นำเกษตรสานต่อหล่อเลี้ยงคลัง
ให้ไทยยั่งยืนหยัดพัฒนา

ธีรเดช คำบุญชู
๒๓/๕/๕๕

ปล. บันดาลใจจากบทกวี “เกษตรศักดิ์” ประพันธ์โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

555000006390401

กสิกรรมวิถีพุทธ

.

.

ได้ยินกันมาเยอะแล้วว่าทำเกษตรต้องพอเพียงพึ่งตน ซึ่งก็คงจะไม่นำมาย้ำซ้ำที่นี่อีกเพราะผมเองก็รู้สึกเฝือเต็มทนแล้วเหมือนกัน แต่ก็มีประเด็นสำคัญอยู่อย่างที่ไม่อยากให้ละเลยกันไป เพราะจากประสบการณ์ของตัวเอง การที่เราจะเดินไปสู่จุดนั้นได้ต้องมีฐานคิดทางพุทธศาสนาคอยประคับประคองค้ำยันไว้พอสมควรอยู่เหมือนกัน เท่าที่นึกได้ทันทีขณะนี้ก็คือ “มักน้อย-สันโดษ” (สองคุณลักษณะนี้ปรากฏอยู่ใน “วรรณะ ๙” ของพุทธศาสนาอันได้แก่ ‘อัปปิจฉะ’ และ ‘สันตุฏฐิ’ สนใจก็ลองศึกษาหาเอาเองนะครับ)

“ความมักน้อย” ถ้าจะให้นิยามก็ตามพยัญชนะนั่นเอง คือ ชอบน้อย ๆ เอาไว้กับตัวเองให้น้อย ๆ ไม่ใช่ชอบของกระจุ๋มกระจิ๋มชิ้นเล็กชิ้นน้อยหรือพวกคิดเล็กคิดน้อยนะ น่าจะเป็นประเภทคิดใหญ่ที่แม้จะทำเล็ก แต่ให้ใคร ๆ เยอะ เอาไว้แต่น้อย อย่างนี้เสียมากกว่า ซึ่งการทำการเกษตรถ้ามีความมักน้อย เราจะนึกถึงตัวเองน้อยลง นึกถึงคนอื่นมากขึ้น วิธีการผลิตของเราก็จะเบียดเบียนน้อยลง ผลผลิตของเราก็จะมีคุณค่า มีคุณธรรม ผู้บริโภคที่รู้คิดย่อมไม่อยากให้สินค้าดีดีอย่างนี้หายไปจากท้องตลาด การเกื้อหนุนจุนเจือกันก็จะเกิดขึ้นเป็นประจำสม่ำเสมอไม่ขาดสาย

อีกคำคือ “สันโดษ” ความเข้าใจในสันโดษโดยทั่วไปจะออกไปทางปลีกเปลี่ยวเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่น่าจะใช่!?! อธิบายง่าย ๆ ด้วยวรรคทองที่คุ้นหูกันมานานว่า “จงพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี” นี่แหละสันโดษ เพราะสันโดษคือความพอที่ใจ ด้วยไม่มีปัญญาบารมีพอที่จะอธิบายอย่างกระจ่างได้ จึงขอยกคำพระมาอรรถาธิบายแทนน่าจะถูกต้องเป็นประโยชน์กว่า ท่านสมณะโพธิรักษ์ได้เขียนไว้ในหนังสือ “วิถีพุทธ” เกี่ยวกับความสันโดษไว้ดังความตอนหนึ่งว่า

.

… ๔. เป็นคนใจพอหรือสันโดษ (สันตุฏฐิ) ได้แก่ คนที่ได้ฝึกหัดลดละความเสพความติดของตนลงมาตามลำดับ เช่น เราเคยกินวันละ ๓ มื้อ แล้วตั้งใจลดน้อยลงมากินวันละ ๒ มื้อ หรือเคยใช้เงินเดือนละห้าพัน ก็ตั้งใจลดน้อยลงมาใช้สามพันให้พอ เป็นต้น จนสามารถทำได้โดยภาวะจิตใจนี่แหละจะมีความเจริญขึ้นเป็น สันโดษ คือ ใจมันจะมี ความพอ กับสิ่งที่เป็นที่มี จะมีความทนได้ มีปัญญาฉลาดรู้ว่า ๒ มื้อ หรือ ใช้เดือนละสามพัน เราสามารถทำได้ พอ จริง ๆ และมีปัญญาเห็นผลดี เห็นจิตใจระงับ เห็นจิตใจไม่ต้องทน ไม่ต้องทุกข์ จิตสันโดษเพราะใจมันพอจริง ๆ เพราะมีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในความหลงโลก และได้ลดละกิเลสตัวติดยึดตามโลกสำเร็จจริง …

.

ความก็อย่างที่ยกมา เกษตรกรที่สมาทานสันโดษ การยึดติดจะลดลง หยุดเป็น ยั้งได้ เป็นได้เช่นนี้เราก็จะไม่นำพาตัวเองเข้าไปสู่วังวนอุปถัมภ์ของใคร ปัญหาเดือดร้อนดิ้นรนในเรื่องหนี้สินหรือถูกเอารัดเอาเปรียบก็จะค่อย ๆ หายไปจากชีวิตของเกษตรกรได้ในที่สุด

จะว่าไปแล้วทุกหลักธรรมคำสอนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งนั้น แต่ที่เน้นสองข้อที่ว่าเพราะเกษตรกรเราเป็นต้นทาง ทุกอย่างที่ออกจากมือเรามีผลกระทบกับทุกชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม ฉะนั้น การให้ไปมากกว่าเอาไว้ประกอบกับความพอแล้วของจิตใจ จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นหัวจักรลากจูงโบกี้ชีวิตเกษตรกรไปสู่จุดหมายได้โดยสวัสดิภาพทั้งตัวเราและใคร ๆ เขาที่ร่วมขบวน

ยากครับกับการอธิบายธรรมเพราะสภาวะเราไม่ถึง ก็เอาแค่พอถูไถแล้วไปขวนขวายขยายต่อกันเอาเอง มีตัวอย่างการเปรียบเทียบวิถีเกษตรที่คล้องคลอไปกับพุทธวิถีได้อย่างน่าสนใจ อาจจะด้วยเคยลงมือทำ จึงทำให้เข้าใจได้ง่าย เป็นบางช่วงบางตอนจากหนังสือ “น้ำหมักชีวภาพและจุลินทรีย์พื้นบ้าน” โดย ชุมชนสหกรณ์บุญนิยมราชธานีอโศก (สามารถหาซื้อได้ที่ ธรรมทัศน์สมาคม ครับ) หน้าที่ ๓๐ บอกไว้ว่า …

.

… พูดถึงการทำกสิกรรมธรรมชาติหลายคนที่ทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ก็คงจะเหนื่อยและท้อถอยไปบ้าง จึงอยากจะนำเสนอการทำกสิกรรมธรรมชาติแบบพุทธโอวาทปาติโมกข์บ้าง กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่ สัพพปาปัสสะอกรณัง ไม่นำสิ่งที่เป็นพิษลงไปในดิน ซึ่งจะทำให้สิ่งที่มีชีวิตในดินตาย โดยเฉพาะจุลินทรีย์ที่สร้างสรรค์สิ่งดีให้แก่ดิน แต่จะส่งเสริมสิ่งมีชีวิตที่สร้างความเสื่อมโทรมให้ดิน ดังนั้นเราต้องปราบอกุศลก่อน คือ จุลินทรีย์กลุ่มทำลายที่อยู่ในดินบริเวณนั้นก่อน โดยการเลิกนำสารเคมีทุกชนิดมาลงในพื้นที่ และนำจุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์มาครองพื้นที่แทน แล้วสรรพชีวิตในดินจะเปลี่ยนไปตามกระแสระบบวงจรการสร้างสรรค์ มิฉะนั้นแล้วปุ๋ยและอินทรียวัตถุที่ท่านนำมาใส่ลงดินก็เท่ากับขนเสบียงอาหารมาให้โจรร้ายขยายอาณาเขตและเพิ่มพลพรรคมากขึ้นไปอีก เปรียบเหมือนคนเราที่ตกอยู่ใต้อารมณ์ของกิเลสที่ถูกเร้าด้วยการโฆษณา การกระทำทุกอย่างแม้จะออกมาดูเหมือนดี แต่ก็เป็นไปเพื่อเสริมกิเลสให้โตขึ้น

พร้อมกันนั้นเราต้องทำ กุสลัสสูปสัมปทา ไปพร้อม ๆ กันด้วย กล่าวคือ ต้องนำสิ่งดีคืนสู่ดินด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมให้ดิน โดยการนำเอาอินทรียวัตถุที่เรามีในพื้นที่มาปกคลุมดินเพื่อป้องกันจุลินทรีย์จากการถูกแดดเผาตาย และปลูกพืชหมุนเวียนลงไปโดยไม่ต้องลงทุนไปขนอินทรียวัตถุจากแหล่งอื่น ซึ่งขอบอกว่า อาหารและแร่ธาตุในดินนั้นพอเพียงสำหรับพืช ถ้าไม่ถูกจุลินทรีย์กลุ่มทำลายแย่งไปกินเสียก่อน เมื่อเราสร้างระบบห่วงโซ่อาหารให้ดำเนินไปในทิศทางสร้างสรรค์และต่อเนื่อง นี่คือมรรควิธีที่จะเดินไปสู่ สจิตตปริโยทปนัง เนื่องจากเราเข้าใจผิดคิดว่า การทำกสิกรรมธรรมชาติคือไม่ทำอะไรเลย จึงเกิดทางสุดโต่ง ๒ ทาง คือ ทางหนึ่งเดินไปสู่เส้นทางของฤๅษี กล่าวคือ ไม่ทำอะไรเลย รอให้ดินผลิตอาหารและพืชขึ้นมาเอง อย่างดีก็แค่หว่านหรือหยอดเมล็ดลงไป รอให้ดินบันดาลผลเองและอดทนรอคอยเท่าที่จะรอได้ เมื่อรอไม่ไหวแล้วก็ตบะแตกจึงไปขนปุ๋ยและอินทรียวัตถุมาใส่ให้มาก ๆ โดยไม่รู้ว่ามีโจรคือ จุลินทรีย์กลุ่มทำลายนั่งยิ้มรอกินอินทรียวัตถุอยู่ เปรียบเหมือนเดินทางไปสายพระเจ้า คือ ไม่ฆ่าอกุศลก่อน มุ่งจะทำแต่กุศลให้มาก ๆ อาจจะดูดีแต่เมื่อหมดอุตสาหะทำดีลงเมื่อใด อกุศลก็จะกลับมาครอบครองหัวใจดังเดิม ถ้าเราเดินทางสู่มรรควิธีกสิกรรมแบบพุทธแล้ว เราก็จะมีอันหวังได้ว่าจะเจริญไปตามลำดับเท่าที่เราจะมีความเพียร…

.

พระพุทธองค์ทรงชี้แนะแนวทางแก้ไขปัญหาทุกปัญหาในโลกนี้ให้สำเร็จเสร็จสิ้นลงได้โดยใช้ อริยสัจ ๔ เป็นยุทธศาสตร์ แลใช้ มรรคมีองค์ ๘ เป็นยุทธวิธี ทบทวนดูทีสิว่า ดีแค่ไหนแล้วที่พุทธศาสนาได้หยั่งรากมั่นคงบนผืนแผ่นดินไทย บุญแค่ไหนแล้วที่เรามีองค์ภูมิพลคอยรดน้ำพรวนดินสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ต้นกล้าประชาไทย

แล้วเราจะไม่เห็นคุณค่าแห่งรากธรรม มิหนำซ้ำยังปล่อยให้พระองค์ทรงเหนื่อยเปล่าได้ลงคอเลยเชียวหรือ?

.
……………
.

ปล.๑ นึกเขียนเรื่องนี้เพราะสภาพสังคมไทย ณ ขณะเขียน มันเกินจะแก้ด้วยวิธีทางโลกแล้ว วิถีธรรมจึงน่าจะเป็นทางรอดสุดท้ายของสังคม … ผมคิดอย่างนั้น
ปล.๒ ตัวผมเองสมาทานวิถีพุทธของ ‘อโศก’ ด้วยคล้องกับวิถีชีวิต กิจวัตร และถูกจริตตนเป็นสำคัญ มิได้ปฏิเสธพุทธกระแสหลักแต่ประการใด และขออภัยถ้าได้สร้างความขุ่นข้องหมองใจให้กับผู้ใด

.

ตามทางไท้


มีคำถามว่าที่ผมทำได้เพราะผมพร้อมกว่า มีที่ มีทุน มีมาก มีเหลือ บ้างยกเอาความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมมาอ้างเข้าไปโน่น สุดท้ายก็สรุปว่าตัวเองทำไม่ได้ … เหนื่อยนะกับความคิดแบบนี้ ยิ่งกับผู้คิดเองด้วยแล้ว

เราชอบที่จะตั้งแง่ขึ้นมาขวางทางเดินของตัวเอง แล้วก็หวังให้ใครมาเคลี่ยร์เส้นทางให้ แทนที่เราจะก้าวข้ามหรือยกมันออกไปให้พ้นทาง สังเกตมานานแล้วว่า ชุดความคิดลักษณะนี้ถูกนำไปใช้กับ “สำนึกดี” หลาย ๆ อย่าง อาทิ การรักษาสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน การดูแลรักษาสุขภาพ การปั่นจักรยาน การแยกขยะ การอ่านหนังสือ การต่อต้านทุจริต กระทั่งกระแสพระราชดำรัสเรื่องความพอเพียง

คำถามที่ถูกยกมาวางขวางทางสายนี้ก็เช่น เท่าไหร่ถึงจะเรียกว่า ‘พอ’ อย่างไหนจึงจะเรียกว่า ‘ดี’ อย่างนี้เป็นต้น

คำตอบหรือคำอธิบายจะไม่เกิดจากปากบอกเล่าของใคร แต่เกิดจากการลงมือปฏิบัติครับ บอกได้แต่เพียงว่าตัวผมเองเรียนรู้จากตัวอย่างที่ดีและมุ่งมั่นที่จะทำตามเท่านั้น

โลกบีบให้มนุษย์ต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้นทั้งจากสภาพแวดล้อม สภาพสังคม และสภาวะเศรษฐกิจ หากเรามัวแต่ตั้งแง่ แบมือขอ ไม่ตระหนักในศักยภาพของตัวเอง เราก็เตรียมทอดร่างไว้รองรับย่างก้าวของคนข้างหลังได้เลย…

.

อ้างอิง: ภาพนี้ผมถ่ายมาอีกทีจากนิตยสารดิฉัน  ฉบับที่ ๘๓๓ จากคอลัมภ์ บันทึกผ่านวันเวลา โดย เจียนลออ ชื่อตอน “อยู่ดีมีสุขได้..ด้วยไท้นำทาง” หน้า ๑๕๐-๑๕๕ … ผมรู้สึกปลอดภัยและมีความสุขทุกครั้งที่เดินบนทางเส้นนี้
.
.

ขนฟางเข้าสวน

.

ช่วงนี้บ้านสวนอยู่ในโหมดเตรียมรับหน้าแล้งครับ หลัก ๆ ก็มีซ่อมระบบน้ำ-เปลี่ยนท่อจุดต่อจุดเลี้ยวต่าง ๆ ที่ชำรุด และขนฟางเข้าสวนเพื่อใช้สำหรับคลุมดิน คำถามว่าแล้วทำไมต้องฟาง? อ.อุดม ศรีเชียงสา ท่านแจกแจงประโยชน์ของฟางไว้ดังนี้

๑. เป็นหัวปุ๋ยชั้นดีฟางอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และไนโตรเจน ฯลฯ ถ้าหากเรานำฟางไปคลุมดินจะทำให้พืชผักเจริญเติบโตแข็งแรง ทนต่อศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี ท่านที่ไม่ชอบฟางอาจทำให้ระคายผิวบ้างจึงหันไปใช้มูลวัวมูลควายแทน ท่านเคยสังเกตไหมครับว่าวัวควายกินอะไรพวกมันกินหญ้า กินฟาง ก็นำไปบำรุงร่างกายของมันทั้งหมด ส่วนที่เหลือก็ขับถ่ายออกมาซึ่งเป็นกากเดนของฟาง ประโยชน์ก็มีน้อย จึงมีผู้เปรียบเทียบเอาไว้ว่า มูลวัวมูลควาย ๑๐ ส่วนจึงจะเท่าฟาง ๑ ส่วน หรือเปรียบเทียบให้ชัดเจนเข้าไปอีกว่า ฟางเปรียบเหมือนรถมือหนึ่งหรือรถใหม่ มูลวัวมูลควายเปรียบเสมือนรถมือสอง ท่านจะเลือกเอาอะไร ฟางเป็นส่วนหนึ่งของแม่โพสพ (ข้าว) นอกจากฟางแล้วยังมีแกลบ รำ ละอองข้าว (คายข้าว) ทั้งหมดคือผลผลิตที่ออกมาจากข้าว เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อดินและมนุษย์เป็นอย่างมาก ถ้าหากชาวไร่ชาวนาหันมาใช้วัตถุดิบเหล่านี้แทนปุ๋ยเคมีแล้ว จะทำให้ประเทศไทยไม่ต้องสั่งซื้อปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้เราขาดดุลการค้าอย่างมากมายมหาศาล

๒. ฟางช่วยปรับโครงสร้างของดินที่เป็นกรดหรือเป็นด่างให้เกิดความสมดุลในตัวของมันเอง ดินที่เป็นกรด (Acid Soils) หมายถึง ดินที่มีค่า PH ต่ำกว่า ๗.๐ ดินที่เป็นด่าง (Alkaline Soils) หมายถึง ดินที่มีค่า PH สูงกว่า ๗.๐ ไม่ว่าดินจะเป็นกรดหรือเป็นด่าง ถ้าหากท่านเอาฟางไปคลุมดินไว้ สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปเองทันที ช่วยรักษาหน้าดินตามธรรมชาติของดิน ถ้าหากไม่มีอะไรปกคลุมหรือกั้นเอาไว้ หน้าของดินจะเสื่อมสลายและสูญเสียไปกับสายลม น้ำ และแสงแดด ซึ่งจะทำให้ดินเป็นดินด้านอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าหากเรานำฟางไปคลุมดินเอาไว้ จะทำให้เกิดชั้นหน้าดินอีกทีหนึ่ง ช่วยคลุมหญ้าและวัชพืชต่างๆ เมื่อเรานำฟางไปคลุมหญ้าและวัชพืชหนาพอสมควร โดยไม่ให้อากาศหรือแสงแดดส่องถึงพื้นดิน จะทำให้หญ้าและวัชพืชเน่าเป็นปุ๋ยหมักตามธรรมชาติอย่างดี หลังจากนั้นเราก็จะสามารถแหวกฟางออกปลูกพืชผักต่างๆ ได้โดยไม่ต้องออกแรงมากนัก ฟางรักษาความชื้นให้แก่ดิน เป็นการสร้างดินให้มีชีวิต

๓. สร้างระบบนิเวศถ้าหากเราทำกสิกรรมที่ใช้ฟางเป็นหลักจะทำให้ประหยัดน้ำมากขึ้น ช่วยให้เกิดวัฏจักรชีวิตของสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อดิน ตามธรรมดาดินที่ว่างเปล่าหรือดินโล้นจะเป็นดินป่วยดินดาน ดังนั้นถ้าหากเราปลูกพืชลงไป พืชผักก็จะอ่อนแอไม่เจริญเติบโต ศัตรูของพืชก็จะมาทำลาย แต่ดินที่คลุมด้วยฟางจะเป็นดินที่ร่วนซุยเพราะไส้เดือน จุลินทรีย์และสัตว์ต่างๆ ช่วยกันพรวนดิน ดินที่คลุมด้วยฟางก็จะเป็นอาณาจักรของสัตว์ต่างๆ เพราะระบบนิเวศวิทยาอุดมสมบูรณ์ เช่น คางคก แย้ จิ้งเหลน แมงมุม ฯลฯ การระบาดของแมลงศัตรูพืชก็จะค่อยๆ หายไป โดยที่เราไม่ต้องไปใช้สารขับไล่แมลง ดังนั้นการทำลายชีวิตของสัตว์ต่างๆ ในไร่นา นอกจากจะผิดศีลธรรมตามหลักของพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ให้เสื่อมลงไปอย่างน่าเสียดายเป็นที่สุด

อ่านฉบับเต็มได้ที่ “ฟางมีค่ากว่าทองคำ”

พักหลังนี่หนักไปทางตัดแปะเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่กว่าจะนำมาเสนอก็ผ่านการปฏิบัติด้วยตัวเองมาระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งเห็นว่ามีประโยชน์จึงเอามาแบ่งปัน จริง ๆ เรื่องพวกนี้คนที่สมาทานวิถีเกษตรธรรมชาติน่าจะได้อ่านผ่านตา ได้ลองทำผ่านมือมากันจนช่ำชองแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร

นอกจากการคลุมดินแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผักหวานป่าปลูกใหม่ “ร่มเงา” เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้ระบบราก บ้านสวนเราปลูกผักหวานแซมไปกับต้นลำไย ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เผอิญว่าเราทำลำไยต้นเตี้ยนี่สิ แล้วจะเอาร่มเอาเงาจากที่ไหนมากางให้ผักหวาน?!?

“แสลน” คือคำตอบครับ ไม่จำกัดสไตล์ ทำอย่างไรให้กรองแรงแดดได้ คิดเอาเอง

ไม่มีแสลน ไม่มีสตางค์ ใช้ทางมะพร้าวแทนได้ 🙂

.
.
……………
.

.

บันทึกสวน มกราคม ๒๕๕๕
.

๑. หยอกล้อเล่นหัวกันมาหลายปีจึงได้บทสรุปสำหรับสวนนี้ว่า ควรปลูกผักหวานป่าหลังฝนครับ ตั้งแต่พฤศจิกายนเป็นต้นไป อากาศแห้งพอดี ความชื้นในดินพอเหมาะ เรียกว่าพอฉ่ำฉ่ำไม่เฉอะแฉะ ปลูกหน้าฝนเหมือนชาวบ้านเค้า ร้อยทั้งร้อยตายเรียบ! น้ำเยอะเกิน รากเน่า-รากินหมด

๒. ผักหวานป่าต้นนี้ผ่ามาออกลูกเดือนมกราคม?!? จากปกติที่ต้องเป็นเมษายน การปรับเปลี่ยนวงรอบชีวิตของบางไม้ในสวน เตือนเราให้ตะหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพลมฟ้าอากาศที่นับวันจะรุนแรงและใกล้ตัวเราเข้ามาทุกที ทางรอดทางเดียวของเกษตรกรในวันนี้และวันข้างหน้าก็คือ การกลมกลืนและถ้อยทีถ้อยอาศัยกับธรรมชาติ ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาเอาชนะคะคานกันเฉกเช่นปัจจุบัน

เพราะนี่ไม่ใช่โลกใบเดิมที่เราคุ้นเคยกันอีกต่อไปแล้ว…

.
……………
.

แก้ไขเพิ่มเติม – ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
.
๑. อาจมีข้อสงสัยว่าลำไยทรงเตี้ยเป็นอย่างไร? มาชม อ.พาวิน มะโนชัย จาก ม.แม่โจ้ เฉลยครับ 🙂


๒. เผื่อใครสนใจ, ผมเคยเขียนถึงการตัด-แต่งกิ่งลำไยของบ้านสวนเอาไว้ที่ http://www.onopen.com/teeradejk/09-12-08/5178
.

who knows her name …

.
กล้วยไม้ของแม่แต่จำชื่อไม่ได้ น่าจะเป็นสกุลฟาแลนอปซิสหรือพันธุ์ผสมก็ไม่แน่ใจ ใครผ่านมาแล้วรู้จัก แม่ฝากถามชื่อให้ด้วย ขอบคุณครับ 🙂
.

.

นำร่อง-สอดราก

.


ยังคงวนเวียนอยู่กับผักหวานป่า ด้วยยังไม่แจ่มแจ้งกับไม้ชื่อนี้มากนัก สนุกกับการทดลองทำตามคำบอกเล่าที่ผ่านหูผ่านตา พอเห็นว่าได้ผลเลยอยากนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน สวนเราให้ความสำคัญกับไม้ชนิดนี้เพราะปัจจัยเรื่องดินครับ ผลการตรวจสอบข้อมูลชุดดิน ช่วยเรากำหนดรูปแบบและทิศทางของสวนได้มาก “ดินที่นี่ไม่เหมาะทำการเกษตรควรปล่อยไว้เป็นป่า” สวนเราจึงเน้นไม้ยืนต้นมากกว่าผักพืชล้มลุก ผักหวานป่าจึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่มากที่สุด

วิธีการปลูกผักหวานป่าแบบนี้ผมเรียนรู้จากคุณอำนวย คลี่ใบ เจ้าของสวนผักหวานป่าจากจังหวัดแพร่ครับ ผมเรียกเอาเองว่าปลูกแบบนำร่อง-สอดราก คร่าว ๆ คือวิธีนี้ไม่ต้องเตรียมหลุมปลูก บ่มเมล็ดจนรากงอกประมาณ ๑ นิ้ว จะปลูกตรงไหนก็ใช้เหล็กแทงลงดินเป็นการนำร่อง แล้วจึงสอดรากเมล็ดผักหวานข้างต้นลงไป บีบโคนรากเบา ๆ ให้ดินกระชับ กดเมล็ดอย่าให้มิด หาหญ้าฟางมาคลุม ปักไม้หมายจุดไว้เป็นอันเสร็จ

แล้วอะไรคือเหตุผลของวิธีปลูกแบบนี้ ให้คุณอำนวยเล่าเองจะดีกว่า …

การใช้เหล็กแทงดินให้เกิดรูนำร่องช่วยให้รากผักหวานป่าสามารถหยั่งลงดินในระดับลึก ซึ่งหากไม่มีเวลารดน้ำในช่วงฤดูแล้ง ผักหวานป่าก็สามารถดูดซับน้ำจากดินในระดับลึกได้ หากไม่มีการทำรูนำร่อง รากผักหวานป่าที่ชอนลงในดินอาจชอนไปสะดุดก้อนหินขนาดเล็กหรือดินแข็ง ทำให้ทิศทางการชอนของรากเบี่ยงเบนไปทางด้านข้างระดับผิวดิน ทำให้รากอยู่ในระดับตื้น เมื่อถึงฤดูแล้ง ความร้อนที่ผิวดินจะเป็นสาเหตุให้รากผักหวานป่าเหี่ยวแห้งเพราะไม่สามารถหาน้ำในระดับผิวดินที่แห้งได้ และผักหวานป่ามักจะตายในช่วงนี้

และด้วยวิธีนี้ .. เมื่อลองทำดูก็พบว่าได้ผลจริง

.
เริ่มที่บ่มเมล็ดในแกลบดำจนรากงอกแต่ในรูปนี่ยาวไป ให้รากยาวประมาณหนึ่งนิ้วกำลังดี

ใช้เหล็กเส้นขนาด ๒ หุน ยาวประมาณฟุตหรือมากกว่า แทงดินเป็นรูนำร่อง ถ้ารูใหญ่กว่านี้รากอาจไม่กระชับกับดินทำให้รากฝ่อได้

สอดรากลงรู กดเมล็ดให้จมประมาณสองในสาม เพราะถ้าลอยมากเมล็ดก็เฉาหรือจมมิดเมล็ดก็เน่า อย่าลืมบีบโคนรากให้กระชับดินด้วย

ถ้าผ่านด่านหอยทาก ไส้เดือน จิ้งหรีดที่ชอบมากัดกินยอดหรือต้นอ่อนได้ก็เจอกัน

.

ช่วงปีสองปีที่ผ่านมากระแสผักหวานป่าจัดได้ว่าแรงมาก ซึ่งประโยชน์อย่างหนึ่งของกระแสนี้ก็คือ เกิดการสั่งสมและเผยแพร่ภูมิปัญญาในการปลูกผักหวานป่าในรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ แต่อีกด้านก็ส่งเสริมให้คนละโมบมากขึ้น ด้วยราคาค่าตัวที่สูงเพราะซัพพลายที่น้อย แต่ในอนาคตก็จะเหมือนพืชตัวอื่น ๆ ที่แห่ปลูกตามกันไป น่าเสียดาย..เราเรียนรู้ที่จะเอาชนะข้อจำกัดและอุปสรรคในการทำการเกษตรได้มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ไม่เคยถอดบทเรียนและเรียนรู้ที่จะเอาชนะความมักมากในจิตใจตัวเองได้สักที

ตัวผมเองไม่ใช่ชาวสวนที่หัวก้าวหน้านักเพราะไม่รักที่จะเสี่ยง แต่ที่ผ่านมา.. วิธีคิดเช่นนี้มันช่วยเสริมภูมิคุ้มกันชีวิตได้อย่างดีทีเดียว

.


นี่เป็นสภาพแปลงเพาะหลังคัดเมล็ดไปปลูกแล้ว เวลาผ่านไป.. เมล็ดที่หลงหูหลงตาก็พากันงอกออกมาให้เห็น ไม่แน่ใจว่าจะมีชีวิตรอดไปได้นานแค่ไหน ก็คอยดูกันไป อาจจะพบวิธีปลูกใหม่ ๆ อีกวิธีหนึ่งก็ได้ ใครจะไปรู้

.

ท้ายนี้ .. ผมมีวีซีดีการปลูกผักหวานป่าของคุณอำนวย คลี่ใบ ที่สอนให้ผมรู้จักการปลูกและดูแลผักหวานป่า รวมไปถึงวิธีดูแลชีวิตไปพร้อม ๆ กัน ใครสนใจก็ส่งชื่อ-ที่อยู่มาทางอีเมล์ได้เลยครับ ผมจะสำเนาส่งไปให้ ไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ไม่มีปัญหา copyright ครับ การเผยแพร่นี้ถือเป็นธรรมทาน 🙂

.