เกษตร…กรรม

.

ภาพข่าวการแก้ปัญหาราคาหมูตกต่ำโดยการฆ่าลูกหมูทิ้งของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดนครปฐม หน้าสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๓ ก.พ. ๕๐ ที่ผ่านมา นอกจากจะสร้างความสะเทือนใจและความสลดหดหู่อย่างมากแล้ว ยังฟ้องให้เห็นถึงความตกต่ำของภาคการเกษตรบ้านเรา

ทำไมเกษตรกรไทยถึงตกอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ ต้องรอรับความช่วยเหลือ รอคอยให้ใครมาอุปถัมภ์สงเคราะห์อยู่เสมอ (ยกเว้นกรณีผลกระทบจากภัยธรรมชาติ)

เคยอ่านเจอหลักปรัชญาในการส่งเสริมการเกษตร เขาว่าไว้ว่า “ต้องพัฒนาเกษตรกรให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้” แต่แนวทางการพัฒนาการเกษตรของเรากลับสวนทางกับปรัชญาดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง รัฐวนเวียนอยู่แต่กับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรและการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร ทั้ง ๆ ที่เมื่อดูจากฐานะทางเศรษฐกิจของเราแล้ว ไม่สามารถจัดสรรเงินได้มากพอที่จะแทรกแซงตลาดให้ได้ผล ทั่วถึง และเท่าเทียมได้ ทั้งยังเสี่ยงต่อการรั่วไหลจากการทุจริตอีกต่างหาก

นับตั้งแต่เราเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑ เป็นต้นมา รัฐมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ของเกษตรกรมากกว่าการยกระดับคุณภาพชีวิต รายได้ต่อครัวเรือนกลายเป็นดัชนีสำคัญที่ใช้ในการชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนา วิถีชีวิตเกษตรกรไทยเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากการผลิตเพื่อยังชีพไปเป็นการผลิตเพื่อขาย ซึ่งการผลิตระบบนี้ต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกค่อนข้างสูง

ต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนทำให้เกษตรกรถอยห่างจาก ‘การพึ่งพาตนเอง’ ออกไปทุกที

นอกจากนโยบายพัฒนาของภาครัฐที่มีส่วนในการสร้างความอ่อนแอให้กับภาคการเกษตรแล้ว ทัศนคติของเกษตรกรเองก็เป็นสาเหตุสำคัญ เกษตรกรส่วนใหญ่ชอบที่จะประสบความสำเร็จจาก ‘สูตรสำเร็จ’ เคยชินกับการทำตามวิธีที่ได้รับการถ่ายทอดมา เหมือนการท่องจำ ไม่ได้เกิดจากความเข้าใจ ทำให้ไม่สามารถปรับหรือประยุกต์ใช้ได้เวลาที่เกิดปัญหา พูดง่าย ๆ คือ รู้ไม่จริง

การรู้จริงไม่ใช่แค่การรับรู้แล้วทำตาม แต่ต้องเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การเก็บข้อมูล ทดลองทำ ไปจนถึงลงมือปฎิบัติจริง

จากข่าวฆ่าลูกหมู (ประชด?) ของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดนครปฐม ทำให้นึกเปรียบเทียบถึงการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำของ ‘เครือข่ายยมนา’ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่นำข้าวมาแปรรูปเป็นแป้งขนมจีนส่งขายทั่วทั้งภาคใต้ เมื่อเห็นว่าชาวนาขายข้าวได้ราคาต่ำกว่าต้นทุนมาโดยตลอดจึงได้วิเคราะห์ร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้ผลผลิตข้าวมีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งตัวเลขจากการศึกษาและปฏิบัติที่ได้ก็คือ ข้าวเปลือก ๑ เกวียน ราคาเกวียนละ ๓,๒๐๐ บาท เมื่อนำมาสี เป็นข้าวสารจะได้ ๖๒๐ กิโลกรัม ๆ ละ ๙ บาทจะมีมูลค่า ๕,๕๘๐ บาท เมื่อมาทำเป็นแป้งขนมจีนจะได้น้ำหนัก ๘๓๗ กิโลกรัม ๆ ละ ๙ บาท จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น ๗,๕๓๓ บาท และเมื่อนำแป้งมาแปรรูปเป็นขนมจีนจะได้น้ำหนัก ๑,๖๗๔ กิโลกรัม ๆ ละ ๑๐ บาท จะมีมูลค่าสูง ถึง ๑๖,๗๔๐ บาท

เป็นความแตกต่างของการรวมกลุ่มบนพื้นฐานของผลประโยชน์กับการรวมกลุ่มบนพื้นฐานของการเรียนรู้

มีอีกหนึ่งตัวอย่างที่ใช้กระบวนการเรียนรู้ในการแก้ปัญหาที่อยากจะนำเสนอ เป็นการแก้ปัญหาราคามังคุดของชุมชนไม้เรียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช (อีกแล้ว) มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ราคามังคุดตกต่ำมากเหลือกิโลกรัมละ ๔ บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงถึง ๒๐ บาท ชุมชนได้พยายามนำเอาประสบการณ์เรื่องยางพารามาประยุกต์ใช้กับมังคุด แต่ทำไม่ได้ เพราะมังคุดมีความซับซ้อนและมีรายละเอียดมากกว่ายาง เนื่องจากเน่าเสียเร็วและมีปัจจัยด้านดินฟ้าอากาศมาเกี่ยวข้อง จึงนำมังคุดมาคัดเกรด ส่วนที่คุณภาพต่ำก็เอาไปหมักทำปุ๋ย และยังจ้างเด็กมากินมังคุดเอาเมล็ดไปชั่งกิโลขายเพื่อเพาะพันธุ์ ส่วนเปลือกขายให้โรงพยาบาลอภัยภูเบศร์นำไปทำสบู่ และริเริ่มให้ชาวสวนทำมังคุดคุณภาพเพื่อส่งไปญี่ปุ่น โดยเริ่มตั้งแต่จัดทำหลักสูตรการจัดการสวนมังคุดคุณภาพ ส่วนมังคุดที่คุณภาพไม่ถึงเกรดเอก็ส่งไปประเทศจีน

เปรียบเทียบระหว่างการใช้ปัญญากับการใช้อารมณ์ในการแก้ไขหรือตัดสินปัญหา การใช้ปัญญาแม้ในบางครั้งจะเกิดผลประโยชน์ไม่เต็มที่อย่างที่คาดหวัง จะเนื่องด้วยความรุนแรงของปัญหา สภาพแวดล้อม หรือข้อจำกัดใด ๆ ก็ตาม ก็ยังดีกว่าการใช้อารมณ์ที่ไร้ซึ่งประโยชน์อันใดโดยสิ้นเชิง

อีกสาเหตุหนึ่งของความอ่อนแอในภาคการเกษตร คือ เราไม่มี ‘ยังบลัด’ ในภาคการเกษตรเลย คนหนุ่มสาวเลือกที่จะทำงานนอกภาคเกษตรมากขึ้น แม้กระทั่งลูกหลานของเกษตรกรเองก็ตาม หลักๆ น่าจะมาจากแรงจูงใจในเรื่องผลตอบแทนและรายได้ ประกอบกับการได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น ทำให้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพที่มากขึ้น

ส่วนตัวแล้วคิดว่า หัวใจของความเข้มแข็งของภาคการเกษตรอยู่ที่ ‘คน’ ครับ เราต้องมีเกษตรกรที่มีคุณภาพและปริมาณที่มากพอ ในแง่คุณภาพ เกษตรกรไทยต้องมีความรู้ ความรู้ในที่นี้ไม่ได้วัดกันที่ระดับการศึกษา แต่เป็นการรู้เท่าทันในความรู้ คือ รู้จักเลือก ประยุกต์ ปรับใช้ วิทยาการและเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับตัวเอง เลิกฝากความหวังกับสูตรสำเร็จที่ได้รับการส่งเสริมถ่ายทอดจากภาครัฐหรือบรรดาบริษัทปุ๋ยและยาฆ่าแมลงกันเสียที

นอกจากความรู้ในเทคโนโลยีทางการเกษตร (ซึ่งมีผลต่อการลดหรือเพิ่มต้นทุนในการผลิต) ความสามารถในการเชื่อมโยงกับระบบตลาดก็สำคัญไม่แพ้กัน ทั้งโดยตัวเกษตรกรเองหรือผ่านเครือข่ายทางการเกษตรต่างๆ ซึ่งจะทำได้อย่างไรนั้น ในตอนนี้ยังไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญพอที่จะอธิบายได้ รู้แต่ว่าถ้าเราสามารถควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของผลผลิตเราได้ เราก็น่าจะมีอำนาจต่อรองในเรื่องราคาได้

ในแง่ปริมาณ ก็ตรงตามภาษิตไทยที่ว่า “น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ” คงไม่ต้องอธิบาย แต่ปัญหาก็คือ ทำอย่างไรให้อาชีพเกษตรกรสามารถสร้างรายได้มากกว่าหรือทัดเทียมกับอาชีพอื่น จนสามารถเป็นแรงจูงใจให้คนหนุ่มสาวและลูกหลานเกษตรกรเลือกเป็นอาชีพหลักด้วยความเต็มใจ

โดยหลักการทั่วไป อาชีพที่มีโอกาสจะได้รับความสนใจจากคนจำนวนมาก จะต้องเป็นอาชีพที่สามารถสร้างความพึงพอใจในด้านผลตอบแทนและวิถีชีวิต อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งความพอใจดังกล่าว อาชีพเกษตรกรต้องอาศัยกระบวนการที่มีประสิทธิภาพทั้งในด้านการผลิตและการจัดการเชิงธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความต้องการของตลาด ก็ต้องย้อนกลับไปในเรื่องคุณภาพของเกษตรกรที่กล่าวไว้ข้างต้น เกษตรกรต้องใช้ ‘ความรู้’ เป็นหลักในการปรับใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรและพัฒนาความสามารถในการเชื่อมโยงกับระบบการตลาดของตน

เป็นหน้าที่ของเกษตรกรในรุ่นปัจจุบันนี้ครับ ที่ต้องทำให้คนรุ่นหลังได้เห็นเป็นตัวอย่าง

โจทย์สำคัญของเกษตรกรไทยทุกวันนี้ นอกจากเรื่องของดินฟ้าอากาศแล้วก็คือเรื่องการตลาด ที่มีความผันผวนเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จะแก้โจทย์ทั้งสองข้อให้ได้จะต้องอาศัยความรู้ครับ ถ้าจะให้ภาคการเกษตรมีความเข้มแข็ง เกษตรกรต้องรักที่จะ ‘เรียนรู้’ ไม่ใช่แค่ ‘รับรู้’ แล้วนำมาปฏิบัติแต่เพียงอย่างเดียว

แม้ปัจจุบันภาคการเกษตรจะมีความสำคัญน้อยลงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ แต่ไม่ควรลืมบทบาทที่สำคัญของการเกษตรในแง่ความมั่นคงทางอาหารที่เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ นอกจากนี้ผลผลิตทางการเกษตรบางอย่างยังเป็นวัตถุดิบและปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมและการบริการ ดังนั้นความอ่อนแอของภาคการเกษตรน่าจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศได้บ้างไม่มากก็น้อย

.

เคยสงสัยกันมั้ยครับว่า ทำไมในหลวงทรงเลือกทำการศึกษา วิจัย และทดลองทางการเกษตรต่าง ๆ ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา สถานที่ที่อยู่ใกล้ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์กลางการบริหารประเทศ !?!

.

………………..

.

ปล. ขอโทษที่หยาบคาย ใจจริงผมไม่เชื่อว่าไอ้สมาคมห่าเหวอะไรนี่เป็นเกษตรกรจริงๆ หรอก พวกมันก็แค่ไอ้พวกพ่อค้าเลี้ยงหมูเลว ๆ เท่านั้น เกษตรกรจริง ๆ ที่เค้าเป็นด้วยหัวใจจะไม่ทำอย่างนี้ ผมไม่เคยเห็นเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ไข่ต้องเชือดไก่ตัวเองทิ้งเพียงเพราะราคาไข่ตกต่ำ หรือแม้แต่ไก่เนื้อก็ไม่เคยมี พวกเลี้ยงปลาก็ไม่เคยเห็นเบื่อปลายกบ่อเลยซักที เว้นแต่เจอเหตุสุดวิสัย เช่น โรคระบาด จำเป็นต้องตัดใจฆ่าทิ้งทั้งน้ำตา ไม่ใช่เพราะเสียดาย แต่เป็นความผูกพัน วันนี้กูเลี้ยงมึงวันหน้ามึงก็กลับมาเลี้ยงกู ความรู้สึกอย่างนี้มันอธิบายลำบาก จะให้บอกว่าคนรู้คุณสัตว์ มันก็เกินไป แต่ความหมายคงเป็นอะไรที่ใกล้เคียงกัน

แม่ง! ทำได้ไงวะ

.

7 thoughts on “เกษตร…กรรม

  1. observer

    ขอปรบมือให้ดังๆกับบทความนี้ครับ เขียนได้ดีมากๆเลย : )

    อยากเสริมสักนิดว่าผมเชื่อว่าปัญหาด้าน “ความรู้” ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะแวดวงเกษตรกรไทยเท่านั้นแน่ – ไม่ว่าจะเป็น “การแสวงหาความรู้” หรือ “การดัดแปลงความรู้” ก็ตาม

    เท่าที่เกิดและเติบโตมา ผมรู้สึกว่าสังคมไทยยังไมใช่สังคมของการเรียนรู้ ไม่ต้องพูดถึงการทดลอง เก็บข้อมูล วิเคราะห์ หาข้อสรุป และเรียนรู้ที่จะทำขั้นตอนเหล่านี้ซ้ำๆ เพื่อแสวงหาความรู้ที่แท้จริง

    เราชอบ “วัฒนธรรมเด็ดยอด” กันทุกคนครับ ไม่ใช่แต่เพียงเกษตรกรหรอก : )

  2. Pingback: An Observer » Blog Archive » บทความประทับใจ

  3. golb Post author

    ขอบคุณครับ ของมันขึ้นน่ะครับ แรงขับมันสูง : )

    สังคมไทยเคยเป็นสังคมของการเรียนรู้นะครับ โดยเฉพาะสังคมชนบทสมัยก่อนที่มีการพึ่งพาตนเองสูง เพราะกว่าจะก้าวมาถึงขั้นพึ่งพาตนเองได้ในทุกอย่างเหมือนเช่นในอดีตนั้น น่าจะผ่านการลองผิดลองถูกมาพอสมควร เป็นนักวิจัยโดยธรรมชาติ “วิจัยชีวิต” เพื่อความอยู่รอด

    แล้วไอ้ “ยอด” ที่ชอบเด็ดกันนั้นน่ะ ผมว่ามันมีไม่เพียงพอสำหรับทุกคนหรอกครับ เมื่อมันน้อยลงแต่ความต้องการยังมีอยู่มาก การจะเด็ดยอดอาจจะต้องจ่ายแพงขึ้น ถึงเวลานั้นเราอาจจะ “ได้คิด” และหันมาคิดค้นวิธีการพึ่งพาตนเองให้มากขึ้นก็ได้

    หรือมัน copy กันได้เหมือนซีดี? 😀

  4. podduang

    น้องเอ้ที่รัก, คุณพี่บวกเคยอ่านใน businessweek กาแฟจากบราซิลขายกันปอนด์ละไม่กี่เซ็นต์ ขยับมาทำกาแฟสำเร็จรูปใส่ห่อฟอยล์ขายได้ขึ้นมาเป็นหลายดอลลาร์ จากกาแฟสำเร็จพัฒนามาเป็นสตาร์บัคส์ ขายแก้วละ 4 เหรียญ อ่ะนะ แวลู่แอ๊ด แวลู่แอ๊ด ทำอย่างไรเราจึงจะใส่แวลู่แอ๊ดเข้าไปในสินค้าเกษตร ไม่ใช่ขายไปดิบๆสุกๆแค่นั้น

    ทุกวันนี้กระทรวงเกษตรภูมิใจชิบหา_ที่เราส่งออกยางพาราเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ถ้าคิดเป็นมูลค่าแล้วน้อยกว่ามาเลเซียหลายเท่า เพราะมาเลมันแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้ แต่ของเราทำไม่ได้

    เวงกำ

  5. golb Post author

    มีไม่กี่ตัวที่ ‘แวลู่แอ๊ด’ ได้ประสบความสำเร็จ ที่นึกได้ก็มีพวกกล้วยไม้ที่เด่นๆ และทุกตัวดำเนินการโดยเกษตรกรเองทุกขั้นตอน ทั้งคิดพันธุ์ผสมพันธุ์เอง ทั้งหาตลาดเอง จะขนส่งไปขายเองยังต้องเสียใต้โต๊ะให้พวกแ_่งอีก

    พี่เชื่อแมะ ตอนนี้สิงคโปร์มันมีพื้นที่ทำการเกษตรมากกว่าเราอีก แ_่งมันไปเช่าที่ของพม่าบ้าง กัมพูชาบ้าง เป็นแสนเป็นล้านไร่ เล่นแต่ละตัว กล้วยไม้อย่างงี้ ยางพาราอย่างงี้ ปาล์มน้ำมันอย่างงี้ ผักแ_่งยังเอา คิดดูละกัน

    คนอื่นเค้าไปถึงไหนไม่รู้แล้ว บ้านเรายังหลงอยู่กับอดีตที่เคยรุ่งเรืองกันอยู่เลย

    กำเวง

  6. พรเพชร

    ดิฉัน ทำงานเกี่ยวกับบริษัททังร์จีนค่ะ เนือ่งจากจะมีกรุ๊ปช่วงเดือนมิถุนายน เขาสนใจเกี่ยวกับการเกษตร อยากดูฟร์าม เลี้ยงหมู หรือฟร์มเกษตรแบบไหนก็ได้ค่ะ แต่ดิฉันสนใจเส้นทางนครปฐมค่ะ เพระาว่ารายการทัวร์ต้องมีไปเมืองกาญต่อ รบกวนแนะนำหรือช่วยติดต่อด้วยค่ะ 02-6926158-9 ต่อ 331

  7. golb Post author

    คุณพรเพชรครับ

    ผมไม่ค่อยรู้จักใครในภาคกลางเลย แต่ถ้าสนใจในเรื่องเกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ ลองติดต่อไปที่ ‘มูลนิธิเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ ดูสิครับ อยู่ที่สระบุรี ผมว่าเค้าน่าจะมีเครือข่ายเกษตรกรของเค้าในจังหวัดที่คุณสนใจก็ได้

    หรือลองเข้าไปศึกษาข้อมูลก่อนที่ http://www.emkyusei.com หรือที่

    มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน http://sathai.org/index.htm น่าจะช่วยคุณได้บ้าง

    ขอโทษด้วยครับที่ช่วยได้แค่นี้จริงๆ

    🙂

    นี่เป็นสถานที่ติดต่อครับ

    มูลนิธิเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สำนักงาน บริษัท อี เอ็ม คิวเซ จำกัด) ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โทร. 0-3636-2111

    ศูนย์ส่งเสริมเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสุพรรณบุรี
    เลขที่ 322/1 หมู่ที่ 3 ต.ทัพหลวง อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี
    จัดอบรมหลักสูตร 1 วัน เป็นประจำทุกวันพุธ ให้กับ ผู้สนใจทั่วไป (ไม่เสียค่าใช้จ่าย มีอาหารกลางวันเลี้ยง) ในพื้นที่ มีสถานที่ศึกษาดูงาน อาทิ บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ฟาร์มหมู การผลิตปุ๋ยหมัก บ่อกบ สวนลำไย ฯลฯ อบรมเป็นหมู่คณะ (รุ่นพิเศษ) คิดค่าใช้จ่าย ตามจำนวนผู้เข้าอบรม สอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณเฉลียว ปานเนียม โทร. 08-9524-2397

Leave a comment